วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตามรอย ISWIN

ปัญหาใหญ่เรื่องภาระงานของพยาบาลห้องฉุกเฉิน ส่วนหนึ่ง คือ การลงข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยซึ่งเป็นที่ต้องการจากหลายหน่วยงาน(ที่อยากได้ข้อมูลมากกก แต่ไม่เคยมาทำเอง) ลักษณะงานของหน่วยงานนี้เป็นงานที่ต้องดูแลความเป็นความตายของผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉิน ซึ่งมีความเครียดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แถมยังต้องมาแบกภาระงานข้อมูลที่ต้องเขียนและต้องคีย์ข้อมูล ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ สารพัด
ผมมีโอกาสได้นั่งจับเข่าคุยน้องก้อยและจอย เจ้าหน้าที่หน่วยงานอุบัติเหตุฉุกเฉินของโรงพยาบาลว่า มีข้อมูลอะไรบ้างที่ต้องลงบันทึกในแต่ละวัน ฟังแล้วผมนึกว่าเป็นนิยายเรื่องยาวของช่อง 7สี ต้องขออนุญาตไปตั้งหลักแล้วจะกลับมาฟังใหม่  จนกระทั่งวันนี้ฤกษ์งามยามดีเป็นศรีสง่า เหมาะแก่การทำมาค้าขาย หรือติดต่อเจรจาต่างๆ ผมจึงกลับไปห้องฉุกเฉินอีกครั้งเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงาน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะช่วยลดภาระงาน และความซ้ำซ้อนของการบันทึกข้อมูล


ISWIN ... ที่(ไม่) win win ทั้งสองฝ่าย
งานแรกที่เราเริ่มต้นคุยกัน คือ โปรแกรม ISWIN ผมขอให้ก้อยช่วยเล่าให้ฟังก่อนว่าทำอะไรและทำอย่างไรบ้าง ซึ่งจากการที่ได้ฟังข้อมูลวิธีการทำงานก็ค่อนข้างมึนตึ๊บ แต่พอที่จะสรุปออกมาเป็น FLOW ตามความเข้าใจ ได้ดังนี้ครับ



เมื่อคนไข้อุบัติเหตุจราจร เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแบบฟอร์มที่่พยาบาลใช้เก็บข้อมูลสำคัญทาง กฏหมาย คือ ใบบันทึกอุบัติเหตุ ซึ่งแบบฟอร์มนี้มีขนาด  A5หน้าหลัง ซึ่งมีรูปภาพที่แสดงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งพยาบาลให้เหตุผลว่าบางครั้งบาดแผลเกิดหลายตำแหน่งพร้อมกัน และเวลาบันทึกลงในกระดาษจะสะดวกกว่าลงที่คอมพิวเตอร์ (อันนี้มันแน่อยู่แล้วครับ..)

หลังจากให้บริการผู้ป่วยเสร็จ พยาบาลจะคีย์ข้อมูลใน HOSxP ซึ่งจะมีการลงบันทึกอุบัติเหตุด้วยคล้ายกับข้อมูลที่ลงบันทึกใน ISWIN  และพิมพ์ OPD card  แนะนำเรื่องสิทธิ และการส่งหลักฐานเรื่องเกี่ยวกับ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ และถ้าจะให้ครบขั้นตอนก็ควรลงหน้าเวประบบสินไหมอัตโนมัติ online เพื่อขอจองเลขเบิกค่ารักษา สุดท้ายก็จะนำข้อมูลที่ได้ไปลงบันทึก ISWINทุกวันซึ่งเป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับที่ลงใน HOSxP  และหลังจากนั้นจะส่งข้อมูลออกไปให้ สสจ.เลยทางกล่องหนังสือ เดือนละ 1 ครั้ง

โดยสรุปก็คือ ISWIN เป็นโปรแกรบันทึกข้อมูลการดูแล ผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรonly ดูๆแล้วก็น่าจะมีอะไรยุ่งยากแค่คีย์ส่งข้อมูล แต่น้องก้อยบอกว่า " ยากสิคะคุณพี่ขาาาาา...ก็มันต้องคีย์ซ้ำซ้อนนี่นะสิค่ะ"  เหตุผลข้อนี้ของน้องก้อยศาลพระภูมิท่านรับประทับฟ้องครับ เพราะเอกสารที่ต้องใช้กับผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรไม่ใช่มีแค่ opd card อย่างที่ผมเข้าใจ ยังมีเอกสารอื่นๆ ประกอบอีกหลายรายการซึ่ง HOSxPในปัจจุบันยังตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด ยังไม่นับรวมที่ต้องอธิบายการส่งเอกสารประกอบการเบิกค่ารักษา พยาบาล พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ และต้องคีย์ออนไลน์ e-claimของ พรบ. และถ้าหาก refer ต้องคีย์ส่งต่อ refer link อีกรอบ โอ้..แม่เจ้า

ผมถามตามประสาคนซื่อว่า "ถามจริง..ข้อมูลที่บันทึกในรายงาน ISWIN ทุกวันนี้ทีม ER ได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง?"
"ตอบตรงค่ะ คุณพี่ขาาาาา  น้องไม่เคยเอามาประมวลผลดูเลย " น้องก้อยตอบอย่างจริงใจ ไม่จริงโจ้
เพราะข้อมูลส่วนที่เก็บใน ISWIN เราก็มีอยู่แล้วใน HOSxP ไม่รู้ว่าจะไปดูอะไรอีก ก้อยให้ข้อมูลเพิ่มเติม

"สรุปแล้วคือทำเพื่อส่ง สสจ.เลย แต่เพียงผู้เดียว..ใช่ไหม๊ ?" ผมถามย้ำเพื่อให้น้องก้อยฟันธง..
" ฉับ..ฉับ" คือเสียงคำตอบที่ผมได้รับ

ที่มาที่ไป ISWIN
ISWIN มาจากไหนใครรู้บ้าง?  แล้วมันเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อไหร่?  น้องก้อยบอกผมว่านานนนน..น มาก จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าได้ไปอบรมกับอาร์ม (ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้บรรจุตำแหน่งโปรแกรมเมอร์) ตอนนั้นไปอบรมกับที่จังหวัดเลย ส่วนผมพยายามค้นหาที่มาที่ไปของ ISWIN ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร แต่ก็ไม่ได้รายละเอียดมากนัก รู้แต่ว่าพัฒนาโดย ทพ.สมาน ทันต์เจริญกิจ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พัฒนาจาก Accessซึ่งมีเวปบอร์ดสำหรับแจ้งผลการใช้งานที่  http://202.129.37.110/ISWIN/webboard/webboard.php  แต่ข้อมูลในเวปบอร์ดไม่ได้อัพเดตมากนัก และดูเหมือนว่ากลายเป็นเวปบอร์ดที่ร้างคนดูแลมานาน


จุดเด่นที่เห็นชัดน่าจะเป็นเรื่องรายงานของ ISWIN ที่มีจำนวนมาก ซึ่งคงจะตอบสนองเรื่องรายงานให้กับคนใช้ได้พอสมควร หน้าตาของโปรแกรมดูเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน


ข้อมูลผู้พัฒนาโปรแกรม


HOSxP & ISWIN
ผมพยายามค้นหามีข้อมูลเพิ่มเติมระหว่าง HOSxP&ISWIN ว่ามีใครได้นำมาพัฒนาต่ออย่างไรหรือไม่ จากข้อมูลที่พอหาได้พบว่า Admin บางท่านเคยสอบถามไปยังเวปบอร์ดของ ทพ.สมาน เรื่องการเชื่อมต่อกับ HOSxP ตั้งแต่ปี 2548 และอาร์มเองก็เคยพยายามพัฒนาการเชื่อมต่อของ HOSxP กับ ISWIN อยู่พักนึง และข้อมูลสุดท้ายอาจารย์ naj ได้โพสต์ข่าวดีว่าทาง ทพ.สมาน ยินดีจะช่วยแก้โครงสร้างเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับ HOSxP แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าไปมากกว่านั้น  หรือแม้กระทั่งข่าวที่ว่าสามารถเชื่อม HOSxP กับ ISWIN ได้แล้วทางเมนู IS โมดูล ER  แต่ทุกอย่างก็เงียบหายไปกับสายลม

บทสรุปสุดท้ายพยาบาลผู้ใช้งาน ยังคงต้องทนแบกรับภาระงานการลงบันทึกข้อมูลเพียงเพื่อให้มีข้อมูลส่งออกไปให้ สสจ.ทุกเดือนเท่านั้น และทาง สสจ.เอง ก็ไม่มีข้อมูลสะท้อนกลับมาให้ว่า วิเคราะห์ผลงานออกมาแล้วเป็นอย่างไร  เป็นเพราะเราไม่ค่อยชอบตั้งคำถามกันหรือเปล่าว่าทำไม การลงบันทึกข้อมูล ISWIN จึงดูเหมือนเป็นงานที่พยาบาลทำเป็นงานปกติจากรุ่นพี่่ส่งข้อมูลต่อให้รุ่นน้องให้คีย์ส่งก็ทำเพื่อให้มีส่ง และก็ได้แต่บ่นว่างานเยอะ ข้อมูลที่คีย์ส่งไปก็ไม่ได้คิดจะเอามาใช้ประโยชน์อะไร เพราะไม่ใช่ข้อมูลที่ตัวเองอยากได้ คนพัฒนาโปรแกรมก็พัฒนาเพื่อให้เชื่อมต่อข้อมูลกันได้เพียงเพื่อลดภาระงานเท่านั้นเอง

HOSxP มีอะไร
โปรแกรม HOSxP มีเมนูที่มีการลงบันทึกข้อมูลคล้ายๆ กับ ISWIN คือเมนู IS แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้พัฒนามาระยะหนึ่งแล้ว แต่มีเมนูสำหรับบันทึกข้อมูลอุบัติเหตุที่เก็บรายละเอียดใกล้เคียงกับ ISWIN แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์สำหรับคนที่ยังคงต้องใช้ ISWIN เพื่อส่งข้อมูล  ซึ่งส่วนใหญ่จึงคิดในการพัฒนาโมดูลหรือ Tools เสริมเพื่อให้สามารถบันทึกข้อมูลและส่งออกจาก HOSxp ไปนำเข้าไปใน ISWIN หรือถ้าส่งออกจาก HOSxP ได้โดยไม่ต้องบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อนก็คงจะเป็นพระคุณอย่างเหลือหลาย





ทำไม ต้อง ISWIN?
  1. ในแต่ละปีข้อมูลที่ได้จาก ISWIN ระดับ รพ.ชุมชนที่บันทึกข้อมูลได้นำมาใช้ประโยชน์อะไรบ้าง?
  2. ข้อมูล ISWINที่ส่งไปรวบรวมที่ สสจ.  ทางผู้รับผิดชอบได้มีการนำไปวิเคราะห์ จัดทำรายงาน หรือทำอะไรบ้าง และมีการเผยแพร่ผลงานผ่านทางช่องทางไหน?
  3. ในปัจจุบันจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใช้ โปรแกรม ISWIN ต่อไป? ถ้าไม่ใช่จะมีปัญหาอะไรบ้าง?
  4. ถ้าจะใช้ข้อมูลใน HOSxP แทน ISWIN ได้หรือไม่ 
  5. ถ้าไม่ได้จะพัฒนาระบบอย่างไรเพื่อลดภาระงานไม่ให้พยาบาลต้องคีย์ข้อมูลซ้ำซ้อน?
ท่านใดรู้คำตอบ ช่วยไขข้อข้องใจให้คนโง่อย่างผมด้วยเถิด...